ซูดาน หรือสาธารณรัฐซูดาน ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกาตอนเหนือ มีพื้นที่กว้างกว่า 2.5 ล้านตารางกิโลเมตร และมีจำนวนประชากร 45.66 ล้านคน สถานการณ์รุนแรงคราวนี้ นับว่ามีความสลับซับซ้อน เพราะเป็นการแตกคอระหว่างผู้บัญชาการทหาร ‘หมายเลขหนึ่ง’ และ ‘หมายเลขสอง’ ของประเทศ ที่เคย ‘ร่วมลงเรือลำเดียวกัน’ จับมือกันก่อรัฐประหารมาก่อน แต่มาวันนี้ กลับหันปากกระบอกปืนมายิงรบราฆ่าฟันกันเอง จนเดือดร้อนไปทั้งแผ่นดินซูดาน ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา

ซูดาน มีชนวนของเหตุความไม่สงบ

เหตุปะทะนองเลือดในซูดานครั้งนี้ เป็นผลโดยตรงจากการช่วงชิงอำนาจในหมู่ผู้นำทหาร จนนำไปสู่การปะทะอย่างดุเดือดระหว่างกองทัพกับกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (Rapid Support Forces หรือ RSF) ซึ่งเป็นกองกำลังรบกึ่งทหารที่ไม่ได้สังกัดกองทัพซูดาน

ทหาร 2 ฝ่ายระดมยิงต่อสู้กันเพื่อชิงสถานที่สำคัญในกรุงคาร์ทูม เช่น ทำเนียบประธานาธิบดี สถานีโทรทัศน์แห่งชาติ และกองบัญชาการกองทัพ ส่งผลให้พลเรือนอย่างน้อย 56 คนเสียชีวิตในเมืองหลวงและภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 595 คน

กองทัพซูดานระบุว่า ได้ส่งเครื่องบินขับไล่เข้าโจมตีฐานที่มั่นของของ RSF หลายแห่ง โดยประชาชนในกรุงคาร์ทูมให้สัมภาษณ์กับบีบีซีถึงความตื่นตระหนกและหวาดกลัวเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยชาวบ้านคนหนึ่งเล่าว่ามีเหตุกราดยิงที่บ้านพักหลังติดกับบ้านของเขา

ที่มาของความขัดแย้งในซูดาน

นับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารในเดือน ต.ค. 2021 ซูดานก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของสภาที่นำโดยเหล่าแม่ทัพนายพล และมีนายพล 2 คนเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งครั้งล่าสุดนี้

คนแรกคือ พลเอก อับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ผู้บัญชาการกองทัพซูดานซึ่งกุมตำแหน่งประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ส่วนอีกคนคือ พลเอก โมฮัมเหม็ด ฮัมดัน ดากาโล หรือที่รู้จักกันในนาม “เฮเมดตี” ซึ่งเป็นรองประธานาธิบดี และผู้บัญชาการกองกำลัง RSF ทั้งสองมีความคิดเห็นต่างกันในทิศทางการบริหารประเทศ รวมทั้งการนำซูดานกลับคืนสู่การปกครองของรัฐบาลพลเรือน

หนึ่งในประเด็นสำคัญของความขัดแย้งครั้งล่าสุดคือ แผนการผนวกกองกำลัง RSF ซึ่งมีกำลังพลราว 100,000 นายให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพรวมทั้งใครจะเป็นผู้นำเหล่าทัพใหม่นี้

การปะทะครั้งล่าสุดนี้นับเป็นกรณีล่าสุดที่เกิดจากความตึงเครียดจากการช่วงชิงอำนาจ หลังจากการโค่นล้มอำนาจอดีตประธานาธิบดี โอมาร์ อัล-บาเชียร์ ที่กุมอำนาจปกครองประเทศซูดานมายาวนานในปี 2019 ในขณะนั้นมีการประท้วงใหญ่ตามท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีบาเชียร์ก้าวลงจากตำแหน่ง หลังจากปกครองประเทศมาเกือบ 3 ทศวรรษ ส่งผลให้กองทัพใช้โอกาสนี้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ

อย่างไรก็ตาม ประชาชนต่างเรียกร้องการเข้าไปมีบาทในแผนการที่จะนำพาซูดานมุ่งสู่การปกครองตามวิถีประชาธิปไตย ส่งผลให้มีการตั้งรัฐบาลผสมของทหารและพลเรือน แต่ก็ถูกโค่นล้มในการรัฐประหารอีกครั้งในเดือน ต.ค. 2021 นับตั้งแต่นั้น การแข่งขันเพื่อช่วงชิงอำนาจระหว่างพลเอก บูร์ฮาน และพลเอก ดากาโล ก็เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเดือน ธ.ค. 2022 มีการกำหนดกรอบข้อตกลงที่จะส่งมอบอำนาจการปกครองประเทศกลับคืนสู่พลเรือน แต่การเจรจาในขั้นสุดท้ายกลับล้มเหลว

วิกฤตการเมืองซูดานทำให้ “ชุมชนที่กลายเป็นสุสาน”

ในห้วงเวลาที่ข้อตกลงหยุดยิงบังคับใช้อย่างขาดๆ หายๆ พลซุ่มยิง หรือสไนเปอร์ ประจำการอยู่บนหลังคาอาคาร ในการต่อสู้อย่างดุเดือดในกรุงคาร์ทูม ของซูดาน ระหว่างกองทัพกับกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (Rapid Support Forces) ความรุนแรงรายวันเหล่านี้ ทำให้โอมาร์ และประชาชนอีกหลายคน ขนย้ายร่างผู้เสียชีวิตไปสุสานไม่ได้

“ศพถูกทิ้งให้เน่าเปื่อยท่ามกลางอากาศร้อนจัด แล้วผมจะพูดอะไรได้ ชุมชนบางแห่งในกรุงคาร์ทูมกำลังกลายเป็นสุสาน”

เมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน โอมาร์ขุดหลุมสำหรับศพ 4 ร่างบริเวณริมถนนในซูดาน ห่างจากบ้านของเขาในเขตอัล อิมติแดด เพียงไม่กี่เมตร เขาระบุว่า เขารู้จักคนอื่นๆ ที่ต้องทำแบบเดียวกันในชุมชนใกล้เคียง

“ผู้คนหลายคนถูกฆ่าแล้วฝังอยู่ในพื้นที่ใกล้มหาวิทยาลัยคาร์ทูม ใกล้กับสถานีน้ำมันเซดดอน ซึ่งเป็นสถานที่ที่คนรู้จักดี ขณะที่ศพอีกหลายศพถูกฝังในชุมชนใกล้กับถนนโมฮาเหม็ด นากูอิบ”

ไม่ปรากฏตัวเลขอย่างเป็นทางการว่า มีผู้เสียชีวิตถูกฝังอยู่ในบ้านหรือในชุมชนจำนวนเท่าไหร่ แต่โอมาร์ ระบุว่า “อาจมากหลายสิบศพ”

โอมาร์ เล่าว่า การต่อสู้อย่างรุนแรงใจกลางกรุงคาร์ทูม กดดันให้เขาต้องฝังศพคนอย่างน้อย 20 คน หากไม่เป็นใต้พื้นบ้านของเขา ก็ใต้ดินห่างจากประตูบ้านเพียงไม่กี่เมตร สำหรับเขา มันไม่น่าแปลกใจเลย ที่จะเปิดประตูบ้านออกมา แล้วเห็นสุนัขจรจัดเคี้ยวเศษเนื้อจากศพมนุษย์

“ผมฝังคน 3 คนในบ้านของพวกเขา ที่เหลือก็ฝังไว้ริมถนน หน้าบ้านที่ผมอยู่” เขากล่าว

“เพื่อนบ้านของผมถูกฆ่าในบ้านของเขา ผมทำอะไรมากไม่ได้ไปกว่ารื้อแผ่นกระเบื้องในบ้านของเขา แล้วขุดหลุมแล้วนำร่างเขาลงไปฝัง” เขาเสริม

หมายเหตุ : ประชากรส่วนใหญ่ของซูดานนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งตามความเชื่อทางศาสนา หากมีผู้เสียชีวิต จะต้องประกอบพิธีฝังศพภายใน 24 ชั่วโมง หรือเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ฮาหมิด ต้องทนกับชีวิตคล้ายกับโอมาร์ เขาฝังร่างทหาร 3 นายในพื้นที่ชุมชนของเมืองชัมบัต ในซูดาน ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงคาร์ทูมราว 12 กิโลเมตร หลังเครื่องบินรบประสบเหตุพุ่งตก

“ผมอยู่ตรงนั้นพอดี กลุ่มคน 5 คนรวมผมด้วย ดึงศพให้ออกห่างจากซากเครื่องบินรบ แล้วฝังพวกเขาใต้ผืนดินที่ล้อมรอบด้วยอาคารที่อยู่อาศัยในเมืองชัมบัต”

นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นมา 20 ปี เชื่อว่า การฝังร่างผู้เสียชีวิตให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ “เป็นความเมตตา”

“มันไม่สำคัญว่าเราจะฝังผู้เสียชีวิตที่ไหน” เขากล่าว “การฝังศพมีความสำคัญเป็นลำดับแรก เป็นเรื่องการกุศล เพราะการเดินทางไปยังสุสาน อาจใช้เวลาหลายวัน แล้วมันก็มีพลแม่นปืนอยู่ทุกที่”

“เราพยายามช่วยไม่ให้สังคมเผชิญกับวิกฤตสาธารณสุข ถ้าเราปล่อยให้ร่างผู้เสียชีวิตนอนเกลื่อนอยู่แบบนี้ ศพจะเน่าเปื่อยอย่างรวดเร็วจากอากาศร้อน แล้วยังมีสัตว์จรจัดมากัดกิน มันจึงเป็นเรื่องศาสนาและศีลธรรม”

ฮาหมิด ระบุว่า ภาพ “ศพผู้เสียชีวิตถูกเผาอย่างรุนแรง” ยังติดตาเขา และเขาซึมเศร้าไปหลายวัน หลังฝังศพชาย 3 คนนั้น “ผมนอนแทบไม่ได้ กินอะไรไม่ลงไปวันหนึ่ง”

ซูดาน

คำวิจารณ์ของสหภาพการค้าแพทย์

หัวหน้าสหภาพแพทย์ ที่มีประสบการณ์ดำเนินคดีอาชญากรรมสงคราม วิจารณ์การฝังผู้เสียชีวิตในบ้านและสถานที่สาธารณะ ดร.อัตเตีย อับดุลเลาะห์ อัตเตีย เลขาธิการคณะกรรมการชั้นต้นสหภาพการค้าแพทย์ซูดาน ประกาศไม่เห็นด้วยกับการฝังร่างผู้เสียชีวิต “อย่างมือสมัครเล่น” โดยเตือนว่า มันจะเป็นการ “ฝังความจริง” ไปด้วย การฝังร่างผู้เสียชีวิตที่ไม่มีญาติมาติดต่อรับศพ ในบ้านและในชุมชน จะขจัดหลักฐานหรือร่องรอยที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเสียชีวิตได้อย่างไร

“หลังสงครามจบลง คำถามจะตามมาว่า ‘พวกเขาเสียชีวิตได้อย่างไร ตัวตนของผู้ที่ถูกสังหารคือใคร ใครถูกสังหารในเหตุปล้นสะดม และใครตายจากปัญหาระหว่างชนเผ่า’ คำถามนี้อาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง เพราะคำตอบมันถูกฝังไปกับคนตายแล้ว”

ดร.อัตเตีย ระบุว่า ผู้เสียชีวิตควรได้รับการระบุตัวตน และฝังในหลุมศพในเวลาและวิธีการที่เหมาะสม เขายืนกรานว่า ประชาชนควรปล่อยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่กาชาด และเจ้าหน้าที่เสี้ยววงเดือนแดงประจำซูดาน ดำเนินการฝังศพเหล่านี้เอง

“การฝังศพแบบนี้มันไม่ชอบธรรมเลย กระบวนการฝังศพควรมีผู้แทนของรัฐบาล ฝ่ายอัยการ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ และกาชาด อยู่ด้วย และควรมีการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ”

ความหวังแรงกดดันจากนานาชาติ

ทำไมดร.อัตเตีย จึงเชื่อว่า มันเป็นไปได้ที่จะดำเนินกระบวนการเหล่านี้ในประเทศที่กฎหมายและระเบียบมันล่มสลายไปแล้วอย่างซูดาน เขากล่าวว่า ต่างประเทศควรเข้ามามีบทบาท “นานาชาติควรเพิ่มแรงกดดันให้ฝ่ายที่กำลังขัดแย้งกันหยุดทำสงคราม นี่เป็นเรื่องหลัก เราไม่ควรโยนความผิดให้กาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงอย่างเดียว”

อาสาสมัครในทั้งสอง คือ โอมาร์ และฮาหมิด ต่างกล่าวว่า พวกเขาถ่ายภาพใบหน้าและร่างของผู้เสียชีวิต ก่อนจะฝังศพพวกเขา เพื่อใช้ในการระบุตัวตนในอนาคต แต่ ดร.อัตเตีย ระบุว่า คนที่มีส่วนร่วมในการฝังศพ “แบบสุ่ม” อาจมีพื้นเพทางกฎหมายที่น่าสงสัย

“ไม่มีใครอนุญาตให้พวกเขาฝังศพด้วยวิธีดังกล่าว ในสถานที่เหล่านี้ มันไม่มีการออกใบมรณบัตร ก่อให้เกิดคำถามทางกฎหมาย” เขายังหยิบยกประเด็นถึงการฝังศพอย่างผิดๆ จะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปได้

“การฝังผู้เสียชีวิตในหลุมที่ตื้น อาจทำให้สุนัขจรจัดขุดหลุมเพื่อกัดกินศพได้ การฝังศพแบบนี้ไม่ได้ดำเนินตามกระบวนการที่ถูกต้อง เพราะต้องใช้ของแข็ง หรืออิฐ ก่อไว้ในหลุมเพื่อไม่ให้ร่างผู้เสียชีวิตสัมผัสกับดิน”

อย่างไรก็ดี ฮาหมิด กล่าวว่า ชาวซูดานส่วนใหญ่รู้วิธีการขุดหลุมสำหรับฝังศพอย่างถูกต้องว่า “ต้องขุดให้ลึกลงไปใต้ดิน 1 เมตร” ไม่เพียงเท่านั้น มีความพยายามของประชาชนหลายคนเพื่อดำเนินการฝังร่างผู้เสียชีวิตอย่างถูกต้อง อาเหม็ด อาสาเข้าร่วมกับกาชาดเพื่อเก็บศพที่กระจัดกระจายตามท้องถนน

“ผมถ่ายภาพใบหน้าและร่างกาย บันทึกว่านี่เป็นศพใหม่ หรือศพที่เน่าเปื่อยแล้ว ก่อนกำหนดตัวเลขไว้” เขาระบุว่า ได้จัดทำแฟ้มเอกสารร่างผู้เสียชีวิตทุกคน เพื่อการระบุตัวตนในอนาคต

แม้ ดร.อัตเตีย จะวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แต่ประชาชนรู้สึกว่ามันไม่มีทางเลือก จากโครงสร้างระบบสาธารณสุขที่ล่มสลาย เมื่อวันที่ 11 พ.ค. มีคลิปวิดีโอเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ แสดงให้เห็นแพทย์หญิงชาวซูดาน 2 คน คือ แมกโดลิน และแมกดา ยุสเซฟ กาลี ถูกฝังในสวน พี่ชายของพวกเธอบอกกับบีบีซีว่า การฝังร่างน้องสาวทั้งสองของเขาในบ้าน “เป็นหนทางเดียว”

“ร่างของพวกเธอถูกปล่อยทิ้งไว้เกือบ 12 วัน โดยไม่ได้รับการฝัง” พี่ชายกล่าวด้วยน้ำตา

“เพื่อนบ้านแจ้งว่า ได้กลิ่นเหม็นออกมาจากในบ้าน ผู้คนเลยอาสาไปฝังศพพวกเธอในสวน”

สหภาพการค้าแพทย์ซูดาน รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 865 คน เมื่อวันที่ 28 พ.ค. แต่จำนวนผู้เสียชีวิตเชื่อว่าจะมีสูงกว่านี้มาก หากรวมสถานที่ฝังศพอย่างไม่เป็นทางการภายในและรอบกรุงคาร์ทูมด้วย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกำลังทำงานกับกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงประจำซูดาน เพื่อเคลื่อนศพผู้เสียชีวิตไปยังสุสาน แต่การต่อสู้ทำให้ทีมเจ้าหน้าที่เก็บศพเข้าถึงพื้นที่ไม่ได้ ในขณะที่ประชาชนพยายามเอาชีวิตรอด และฝังร่างผู้เสียชีวิตด้วยวิธีการที่ให้เกียรติต่อผู้เสียชีวิต แต่ดูเหมือน การดำเนินคดีอาชญากรรมสงคราม จะดูห่างไกลออกไปท่ามกลางความรุนแรงและการสูญเสีย พี่ชายของน้องสาวสองคน สะท้อนถึงความหวาดกลัวที่ประชาชนต้องเผชิญทุกวัน

 

เรื่องราวรอบโลกอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ที่มาของบทความ

 

ติดตามอ่านเรื่องรอบโลกได้ที่   syoujyuen.com

สนับสนุนโดย  ufabet369